“เซ็บเดิร์ม” โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (seborrheic dermatitis)

Spread the love

“เซ็บเดิร์ม” โรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis)

โรคเซ็บเดิร์ม  (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคที่มีภาวะผิวหนังอักเสบจากต่อมไขมันในชั้นผิวหนัง บริเวณที่พบบ่อยของผื่นเซ็บเดิร์ม คือบริเวณใบหน้า โดยจะขึ้นที่หัวคิ้ว ข้างจมูก หลังหู ซึ่งเป็นบริเวณที่พบได้บ่อยที่สุด ในคนที่มีอาการรุนแรงจะพบบริเวณหน้าอกหรือแผ่นหลังด้วย ขณะที่บางรายก็อาจเกิดที่บริเวณหนังศีรษะเพียงอย่างเดียว ถือเป็นโรคเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่งผลต่อชีวิตประจำวัน โดยจะส่งผลต่อจิตใจโดยตรง ทำให้ขาดความมั่นใจจากโรคผิวหนังเรื้อรัง ทั้งนี้โรคเซ็บเดิร์มอาจทำให้สับสนกับโรคสะเก็ดเงิน อีสุกอีใส หรืออาการภูมิแพ้ได้

สังเกตอาการโรคเซ็บเดิร์มได้จากอาการต่อไปนี้

นอกจากบริเวณศีรษะที่พบได้บ่อยแล้ว โรคเซ็บเดิร์มยังสามารถเป็นตามผิวหนังบริเวณที่มีความมัน เช่น ใบหน้า โดยเฉพาะบนเปลือกตา รอบ ๆ จมูก รวมถึงบริเวณลำตัว ได้แก่ ข้อพับแขนขา กลางหน้าอก รอบสะดือ สะโพก และขาหนีบ โดยอาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้

  • ผิวหนังตกสะเก็ดเป็นรังแคบนหนังศีรษะ หรือบริเวณที่มีเส้นผม คิ้ว หรือ หนวดเครา
  • ผิวมันเป็นแผ่น ปกคลุมด้วยสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง หรือมีสะเก็ดแข็งบนหนังศีรษะ ใบหู ใบหน้า หน้าอก รักแร้ ถุงอัณฑะ หรือตามร่างกายส่วนอื่น ๆ
  • มีอาการคัน แดง ผิวหนังลอกเป็นขุยสีขาวหรือสีเหลือง และผิวดูมัน
  • เปลือกตาอักเสบ มีอาการแดงหรือมีสะเก็ดแข็งติด
  • อาจมีอาการปวดหรือคันร่วมด้วย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดของสาเหตุการเกิดโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม แต่มีทฤษฎีได้พยายามอธิบายสาเหตุการเกิดโรคว่าเกิดจากเชื้อรา Pityrosporum ovale หรือ Malassezia furfur นอกจากนี้ความเครียด อากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือสาเหตุทางกรรมพันธุ์อาจทำให้อาการของโรคแย่ลงได้ พบว่าอาการของโรคมักแย่ลงในช่วงฤดูหนาว แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่

  • พันธุกรรม
  • ความเครียด
  • เชื้อราที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
  • สภาพอากาศที่เย็นและแห้ง
  • ภาวะแทรกซ้อนจากโรคบางชนิด รวมทั้งการใช้ยารักษาโรค

สาเหตุของการเกิดเซ็บเดิร์มไม่ได้มาจากการไม่รักษาความสะอาดหรืออาการภูมิแพ้แต่อย่างใด โดยมีโอกาสเกิดกับทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 30-60 ปีได้มากกว่าวัยอื่น ๆ และยังพบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิง รวมถึงผู้ที่มีผิวมัน นอกจากนี้การเจ็บป่วยจากโรคหรือภาวะใด ๆ ต่อไปนี้ก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเซ็บเดิร์ม

  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและโรคทางจิต เช่น โรคพาร์กินสัน และภาวะซึมเศร้า
  • ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอลง เช่น ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี โรคตับอ่อนอักเสบ พิษสุราเรื้อรัง และมะเร็งบางชนิด
  • โรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน เช่น เบาหวาน
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • โรคการกินผิดปกติ
  • โรคลมชัก
  • โรคผิวหนังอักเสบโรซาเซีย
  • โรคสะเก็ดเงิน
  • สิว
  • ยารักษาโรคบางชนิด
  • การเกา ครูดข่วน หรือการได้รับบาดเจ็บของผิวหน้า
  • ติดสุรา

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

วิธีการรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์มนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค อาการร่วม และความรุนแรงของโรค หากมีอาการของโรคที่หนังศีรษะร่วมกับการเกิดรังแคมักจะให้มีการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ zinc pyrithione tar selenium sulfide หรือ salicylic acid หากหนังศีรษะในบริเวณที่เกิดอาการมีลักษณะหนามากอาจมีการแนะนำให้คนไข้ใช้ mineral oil ทาข้ามคืนและสระออกด้วยแชมพูในตอนเช้า หากมีอาการของโรคที่บริเวณหนังศีรษะ ร่วมกับบริเวณลำตัวและใบหน้า อาจมีการแนะนำให้คนไข้รักษาความสะอาดให้ดีและมีการใช้ hydrocortisone ร่วมด้วย

การรักษาด้วยตนเอง

เซ็บเดิร์มที่เกิดขึ้นบนหนังศีรษะนั้นสามารถรักษาด้วยตนเอง โดยใช้แชมพูขจัดรังแคที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไปที่ประกอบด้วยตัวยาต่อไปนี้

  • กรดซาลิซิลิก (Salicylic acid) ใช้เป็นประจำทุกวัน
  • คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ใช้สัปดาห์ละ 2 ครั้งสลับกับแชมพูที่ใช้ทุกวันเป็นประจำ
  • เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ใช้เป็นประจำทุกวัน
  • ซิงก์ ไพริไธออน (Zinc Pyrithione) ใช้เป็นประจำทุกวัน
  • โคล ทาร์ (Coal tar)
  • การทานโปรไบโอติก (Probiotic) เป็นประจำ

เซ็บเดิร์ม ที่เกิดขึ้นบริเวณอื่นที่นอกเหนือจากหนังศีรษะ เช่น ใบหน้าหรือผิวหนัง สามารถบรรเทาด้วยการหาซื้อผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อราหรือโลชั่นคอร์ติโคสเตียรอยด์มาลองใช้ รวมทั้งการดูแลตัวเองควบคู่กันไป ดังนี้

  • รักษาความสะอาดบริเวณที่เป็นอยู่เสมอโดยการล้างด้วยสบู่และน้ำเปล่า
  • ล้างทำความสะอาดร่างกายและหนังศีรษะเป็นประจำ
  • ใช้ครีมบำรุงและผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เป็นมากขึ้น
  • ทาครีมคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดอ่อน หากไม่ได้ผลให้ลองใช้ครีมต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล
  • โกนหนวดเคราให้หมด เนื่องจากหนวดและเคราจะยิ่งทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นเซบเดิมแย่ลงได้
  • สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อเรียบลื่น เพื่อป้องกันการระคายเคือง
  • ออกไปรับแสงแดดภายนอก แสงแดดจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ แต่ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันรังสียูวีด้วย
  • เลี่ยงการขีดข่วนหรือเกาที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและติดเชื้อตามมาได้ หากคันให้ใช้ครีมไฮโดรคอร์ติโซนหรือคาลาไมน์ช่วยระงับอาการชั่วคราว
  • ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาเบา ๆ หากเปลือกตามีลักษณะแดงหรือมีสะเก็ด โดยล้างด้วยแชมพูเด็กแล้วเช็ดสะเก็ดออกด้วยแผ่นสำลี

เมื่อรักษาด้วยตนเองแล้วยังไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษา ซึ่งหากวินิจฉัยว่าเป็น เซ็บเดิร์ม แพทย์อาจสั่งจ่ายยาหรือแนะนำวิธีรักษาต่อไป

การป้องกันโรคเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์ม ไม่อาจป้องกันการเกิดของโรคได้ แต่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ด้วยการทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้ หลังจากอาการของโรคหายดีแล้ว

  • เซ็บเดิร์ม บนหนังศีรษะ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกสามารถใช้แชมพูต้านเชื้อรา เช่น แชมพูคีโตนาโซล (Ketoconazole) ทุก 1-2 สัปดาห์ หมักทิ้งไว้บนศีรษะ 5 นาทีก่อนจะล้างออก
  • เซ็บเดิร์ม ตามร่างกาย ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำเปล่าเป็นประจำทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดคราบมันบนผิวหนังที่เป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดเซ็บเดิร์ม และช่วยลดจำนวนของเชื้อราบนผิวหนัง โดยการดูแลรักษาความสะอาดควบคู่กับการใช้แชมพูต้านเชื้อราเช็ดตามร่างกายและหนังศีรษะแล้วล้างออกทุก ๆ 1-2 สัปดาห์ อาจช่วยให้โรคเซ็บเดิร์มไม่กลับมารบกวนอีก แต่บางรายก็จำเป็นต้องใช้ครีมต้านเชื้อราทุก 1-2 สัปดาห์บริเวณผิวหนังที่เกิดเซบเดิมขึ้นครั้งก่อน ทั้งนี้สามารถพูดคุยสอบถามแพทย์ถึงวิธีการป้องกันที่เหมาะสมกับตนเอง

ที่มา : www.pobpad.com


Spread the love
error: Content is protected !!