โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง หรือโซริอาซิส (Psoriasis)

Spread the love

โรคสะเก็ดเงิน โรคเกล็ดเงิน โรคเรื้อนกวาง หรือโซริอาซิส (Psoriasis)

เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อและไม่ใช่โรคติดต่อ รอยโรคมีลักษณะขึ้นเป็นผื่นหรือปื้นและมีเกล็ดสีเงินปกคลุม สามารถพบเกิดกับผิวหนังได้ทุกส่วน แต่ที่พบได้บ่อยคือ ผิวหนังส่วนข้อศอกและเข่าด้านนอก ผิวหนังส่วนด้านหลัง หลังมือ หลังเท้า หนังศีรษะ และใบหน้า ผู้ป่วยมักมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ นานแรมปีหรือตลอดชีวิต ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้เรื่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก (ประมาณ 1-3% ของคนทั่วไป) สามารถพบได้ในคนทุกวัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบได้มากในผู้ใหญ่ เพราะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในเด็กยังมีไม่มาก เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โอกาสที่พบในผู้หญิงและในผู้ชายมีใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และอาการมักจะกำเริบเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น (ที่พบบ่อยคือ ความเครียด)

ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐานแล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บ และข้อร่วมด้วย แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่

สาเหตุของโรคสะเก็ดเงิน

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คันและตกสะเก็ด

ในคนปกตินั้น เซลล์ผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าจะมีการงอกใหม่จากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังบนชั้นนอกสุดที่แก่ตัวตายและหลุดออกไปเป็นวัฏจักร โดยเซลล์ผิวหนังที่งอกใหม่จะใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นนอกสุดประมาณ 26 วัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินนี้ บริเวณรอยโรคจะมีการแบ่งตัวหรือการงอกของเซลล์ผิวหนังใหม่เร็วกว่าปกติ และใช้เวลาเคลื่อนตัวจากชั้นใต้ผิวหนังขึ้นมาชั้นนอกสุดของผิวหนังเพียงประมาณแค่ 4 วัน ทำให้เซลล์ผิวหนังที่แก่ตัวหลุดออกในอัตราความเร็วที่ไม่ทันกับการงอกของเซลล์ใหม่ จึงทำให้เกิดการหนาตัวของผิวหนังกลายเป็นตุ่มหรือปื้น และมีเกล็ดสีเงินปกคลุมซึ่งหลุดลอกออกง่าย

มีการสันนิษฐานว่าความผิดปกติดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ ลิมโฟไซต์ ชนิด T cells (ปกติจะทำหน้าที่ในการต่อสู้กับเชื้อโรค) ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป เมื่อเคลื่อนตัวมาที่ชั้นใต้ผิวหนัง ก็จะทำงานร่วมกับสารอื่น ๆ กระตุ้นให้เซลล์หนังกำพร้าเกิดการแบ่งตัวและเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผิดปกติ และก่อให้เกิดการอักเสบของผิวหนังทั้งในชั้นหนังกำพร้าและชั้นหนังแท้

โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีแบบแผนการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไม่ชัดเจน โดยพบว่าถ้าบิดาและมารดาเป็นโรคนี้ บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 65-83% ถ้าบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นโรค บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ลดลงเหลือ 28-50% หรือถ้ามีพี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้โดยที่บิดาและมารดาไม่ได้เป็นโรค บุตรคนถัดไปที่เกิดมาก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงถึง 24% แต่ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่เป็นโรคนี้เลย บุตรที่เกิดมาจะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยลงไปเหลือเพียง 4% โดยลักษณะทางพันธุกรรมนี้เป็นเพียงปัจจัยพื้นฐานของการเกิดโรค และการเกิดอาการของโรคก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แม้ผู้ป่วยจะมีลักษณะทางพันธุกรรมของโรคสะเก็ดเงินอยู่ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นหรือส่งเสริมมากระทบ ผู้ป่วยก็จะไม่เกิดอาการของโรค ดังนั้นผู้ป่วยแต่ละรายจึงควรสังเกตและพยายามหาให้ได้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมอะไรบ้างที่ทำให้โรคกำเริบ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบ เพราะปัจจัยที่ทำให้โรคกำเริบในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่อย่างใด

ปัจจุบันพบว่ามียีนผิดปกติของโรคนี้อยู่มากกว่า 8 ชนิด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมียีนผิดปกติที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีอาการแสดงได้หลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าผู้ที่มียีนของโรคนี้แฝงอยู่ในร่างกายมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ที่ไม่มีอาการ ซึ่งแสดงว่าน่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดอาการ

อาการของโรคสะเก็ดเงิน

อาการของโรคนี้มีหลายรูปแบบ ที่พบได้บ่อยคือ การเกิดผื่นเป็นปื้นผิดปกติบนผิวหนัง อาจเกิดเพียงจุดเดียวหรือหลายจุดพร้อม ๆ กันทั่วตัวก็ได้ โดยทั่วไปรอยโรคจะมีลักษณะเป็นปื้นหนา แห้ง แดง คัน และตกสะเก็ดเป็นสีเงิน เมื่อเกิดที่แขนหรือขาก็มักจะเกิดพร้อมกันทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ซึ่งถ้าเป็นมากผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปื้นนี้ได้ และ/หรือลุกลามเข้าไปในเล็บ หรือมีการอักเสบของข้อต่าง ๆ ร่วมด้วย

อาการแสดงของโรคนี้มีหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยอาจเป็นเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดร่วมกันก็ได้ ดังนี้

1. โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา (Plaque psoriasis)

เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด อาการตอนเริ่มกำเริบใหม่ ๆ รอยโรคจะขึ้นเป็นตุ่มแดง มีขอบเขตชัดเจน และมีขุยสีขาว (สีเงิน) อยู่ที่ผิว ต่อมารอยโรคจะค่อย ๆ ขยายออกจนกลายเป็นปื้นใหญ่และหนา และขุยสีขาวที่ผิวจะหนาตัวขึ้นจนเห็นเป็นเกล็ดสีเงิน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกโรคนี้ว่า “โรคเกล็ดเงิน” หรือ “สะเก็ดเงิน” ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีรอยโรคลักษณะดังกล่าวเป็นปื้นหนา ๆ ขึ้น ๆ ยุบ ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่หายขาด ถ้าขูดเอาเกล็ดออกจะมีรอยเลือดออกซิบ ๆ และเกล็ดที่ว่านี้มักจะร่วงอยู่ตามเก้าอี้หรือที่นอน หรือร่วงเวลาถอดเสื้อหรือเดินไปไหนมาไหน ความผิดปกติดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่ผิวหนังส่วนใดก็ได้ แต่มักจะพบที่หนังศีรษะและผิวหนังส่วนที่เป็นปุ่มนูนของกระดูก ที่พบได้บ่อย ๆ คือ ข้อศอก ข้อเข่า และอาจพบขึ้นที่บริเวณก้นกบ หน้าแข้ง ซึ่งรอยโรคจะมีขนาดต่างกันไป อาจขึ้นเพียงไม่กี่ที่หรือขึ้นกระจายทั่วไปก็ได้ นอกจากนี้รอยโรคลักษณะดังกล่าวยังชอบขึ้นตามผิวหนังที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือชอกช้ำอีกได้ เช่น รอยบาดแผล รอยขีดข่วน เป็นต้น ในบางรายอาจมีรอยโรคภายในเยื่อบุช่องปากหรือบริเวณอวัยวะเพศก็ได้ นอกจากนี้รอยโรคดังกล่าวยังอาจก่อให้เกิดอาการคันหรือเจ็บ และอาจดูคล้ายอาการของโรคกลาก ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้

โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนา (Plaque psoriasis)

2. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มเล็ก (Guttate psoriasis)

รอยโรคจะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ ขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีขุยหรือเกล็ดเงินเล็ก ๆ ปกคลุม มักขึ้นตามลำตัว แขน ขา หนังศีรษะ (รอยโรคอาจดูคล้ายผื่นกุหลาบ ซิฟิลิส ผื่นแพ้ยา) โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้มักพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปี และมักเกิดอาการขึ้นครั้งแรกหลังจากเป็นคออักเสบจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเพียงครั้งเดียวแล้วหายขาดไปเลย หรืออาจกำเริบซ้ำ ๆ โดยเฉพาะเวลามีการติดเชื้อของทางเดินหายใจ

โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มเล็ก (Guttate psoriasis)

3. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis)

เป็นชนิดที่พบได้น้อย รอยโรคมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำขุ่นแบบตุ่มหนอง โดยไม่มีการติดเชื้อ (Sterile pustule) อาจเกิดขึ้นเฉพาะที่ เช่น ฝ่ามือฝ่าเท้า ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หรืออาจขึ้นกระจายไปทั่วตัว (รอยโรคอาจดูคล้ายผิวหนังอักเสบที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนพุพอง) ในระยะแรกเริ่มรอยโรคจะขึ้นเป็นผื่นแดงเจ็บก่อน หลังจากนั้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะพุขึ้นเป็นหนอง แล้วหายไปเองภายใน 1-2 วัน แต่อาการอาจกำเริบซ้ำเป็นวงจร (ผื่นแดง > ตุ่มหนอง > ตกสะเก็ด) ได้ทุก ๆ 2-3 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ และผู้ป่วยอาจมีอาการคันมาก มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย

โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง (Pustular psoriasis)

4. โรคสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis)

เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุด ผู้ป่วยอาจเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนามาก่อน แต่ควบคุมอาการได้ไม่ดี โดยรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงและมีเกล็ด คัน ปวดแสบปวดร้อน ขึ้นกระจายทั่วตัว อาการมักกำเริบเวลามีความเครียด เกิดบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ติดเชื้อ หรือแพ้ยา หรือหยุดกินยาสเตียรอยด์ที่เคยกินอยู่เป็นประจำ ผู้ป่วยอาจมีภาวะแทรกซ้อนแบบบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อ เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

โรคสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว (Erythrodermic psoriasis)

5. โรคสะเก็ดเงินชนิดรอยพับ (Flexural psoriasis หรือ Inverse Psoriasis)

รอยโรคจะมีลักษณะเป็นรอยแดง ผิวราบเรียบ มีขอบเขตชัดเจน และไม่มีเกล็ดเงิน มักพบขึ้นบริเวณรักแร้ ขาหนีบ ใต้นม ข้อพับต่าง ๆ และรอบ ๆ อวัยวะเพศ (รอยโรคอาจดูคล้ายโรคสังคัง โรคเชื้อราแคนดิดา) โรคสะเก็ดเงินชนิดนี้มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน อาการจะกำเริบมากขึ้นเมื่อมีเหงื่อออกหรือมีการเสียดสี

โรคสะเก็ดเงินชนิดรอยพับ (Flexural psoriasis หรือ Inverse Psoriasis)

6. โรคสะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis)

เป็นโรคสะเก็ดเงินที่ขึ้นบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และผื่นอาจพบลามขึ้นมาบริเวณหลังมือหรือหลังเท้าได้

โรคสะเก็ดเงินบริเวณมือเท้า (Palmoplantar psoriasis)

7. โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่หนังศีรษะ (Scalp psoriasis)

เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยอาจมีอาการเกิดขึ้นก่อนมีผื่นตามตัว ซึ่งรอยโรคจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนา มีขอบเขตชัดเจน มีเกล็ดเงินขึ้นตามแนวไรผม และบางครั้งอาจลามมาที่หน้าผาก ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผมร่วง แต่อาจจะมีอาการคัน เวลาเกาหนังศีรษะอาจมีเกล็ดหนังร่วงเกาะตามผมและไหล่ ลักษณะคล้ายกับรังแค โรคกลากที่ศีรษะ

โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่หนังศีรษะ (Scalp psoriasis)

8. โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ (Nail psoriasis)

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า ความผิดปกติที่เล็บมือพบได้ถึง 50% เล็บเท้าพบได้ประมาณ 35% มีอาการแสดงได้หลายลักษณะ เช่น มีจุดสีน้ำตาลใต้เล็บ เล็บขรุขระ เล็บเป็นหลุม เล็บแยกตัวออกจากเนื้อใต้เล็บ (Onycholysis) ผิวใต้เล็บหนา (Subungual keratosis) มักเกิดร่วมกับเนื้อเยื่อของเล็บอักเสบ (Paronychia) ในรายที่เป็นรุนแรงเนื้อเล็บจะเปื่อยยุ่ย ถูกทำลาย และบางครั้งผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราร่วมด้วย จึงอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคกลากที่เล็บ หรือโรคเชื้อราแคนดิดาที่เล็บ

โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดที่เล็บ (Nail psoriasis)

9. ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)

เป็นกรณีที่พบได้ประมาณ 5-15% ของผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน ส่วนมากจะพบร่วมกับรอยโรคที่ผิวหนังเรื้อรัง ส่วนน้อยอาจมีอาการข้ออักเสบนำมาก่อนอาการที่ผิวหนัง โดยมักพบที่ข้อนิ้วมือนิ้วเท้ามีลักษณะปวด บวม และข้อแข็ง คล้ายโรคปวดข้อรูมาตอยด์ หากเป็นเรื้อรังจะทำให้เกิดการผิดรูปได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบของข้อเข่า สะโพก และข้อกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจเป็นเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อพร้อมกันก็ได้ และอาการข้ออักเสบอาจค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้นจนข้อพิการในที่สุดก็เป็นได้

ข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน (Psoriatic arthritis)

ภาวะแทรกซ้อนของโรคสะเก็ดเงิน

  • ส่วนใหญ่โรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แต่เนื่องจากรอยโรคที่เป็นแบบเรื้อรังและดูน่าเกลียด จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเครียด วิตกกังวล เกิดอาการซึมเศร้า สูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง และกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและการออกสังคมได้
  • ในรายที่มีอาการคันมาก อาจเกาจนมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  • ในรายที่เป็นรุนแรง เช่น เป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองที่ขึ้นกระจายไปทั่วตัว หรือสะเก็ดเงินชนิดแดงและเป็นเกล็ดทั่วตัว อาจทำให้เกิดภาวะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ และเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้
  • ในรายที่เป็นที่เล็บ อาจทำให้เล็บพิการ
  • ในรายที่เป็นข้ออักเสบ อาจทำให้ข้อพิการ
  • อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา (Non melanoma skin cancer)

คำแนะนำเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน

  • ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินแต่ละรายอาจมีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกันไป โดยอาจมีอาการเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งหรือมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป หรือเปลี่ยนชนิดกันไปมาก็ได้ บางรายอาจมีผื่นขึ้นเฉพาะที่ ไม่ลุกลามออกไป แต่บางรายผื่นอาจทวีความรุนแรงไปเรื่อย ๆ โดยทั่วไปแล้วถ้าเริ่มมีอาการครั้งแรกตอนอายุน้อย ก็จะมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาด้วยการใช้สเตียรอยด์ชนิดทาเป็นครั้งคราว และสามารถไปทำงานและดำเนินชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป
  • โรคนี้มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แบบเรื้อรัง โดยมีบางช่วยที่อาจหายดีเหมือนปกติ แต่สักพักหนึ่งก็จะกำเริบขึ้นอีก ผู้ป่วยบางรายอาจมีระยะสงบจากอาการนานเป็นปี ๆ แต่บางรายอาจกำเริบได้บ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสิ่งที่มากระตุ้นอย่างความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรติดต่อรักษากับแพทย์คนใดคนหนึ่งอย่างต่อเนื่อง อย่าเปลี่ยนแพทย์ หรือเปลี่ยนโรงพยาบาลบ่อย
  • โรคสะเก็ดเงินแม้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็มักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และแม้จะมีรอยโรคที่ดูน่าเกลียด แต่ก็ไม่ใช่โรคติดต่ออย่างโรคเชื้อราหรือโรคเรื้อน หรือเป็นโรคร้ายแรงแบบโรคเอดส์หรือโรคมะเร็ง ผู้ป่วยจึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างใกล้ชิดได้ตามปกติ (การสัมผัสผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินหรือผิวหนังส่วนที่เกิดรอยโรคหรือแม้แต่สะเก็ดของผิวหนังส่วนที่เกิดรอยโรคก็ไม่ทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินได้) ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรอธิบายให้ญาติพี่น้องและคนทั่วไปเข้าใจ เพื่อเขาเหล่านั้นจะได้ให้การดูแลและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย และไม่แสดงความรังเกียจจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกมีปมด้อย เกิดความเครียด หรือมีอาการซึมเศร้า
  • โรคนี้อาจแสดงอาการได้หลายแบบ และอาจคล้ายกับโรคผิวหนังอื่น ๆ เช่น กลาก รังแค โรคเชื้อราแคนดิดา ผื่นกุหลาบ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ เป็นต้น ดังนั้น ถ้ารักษาโรคเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล ควรนึกถึงโรคสะเก็ดเงินด้วยเสมอ
  • โรงพยาบาลควรส่งเสริมให้กลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินได้พบปะพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการดูแลตนเอง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และหากเป็นไปได้ ควรจัดให้ผู้ป่วยรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนหรือกลุ่มมิตรภาพบำบัด

Spread the love
error: Content is protected !!