โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ท้องอืดแน่นท้อง ปวดท้องเรื้อรัง ถ่ายผิดปกติ ภูมิคุ้มกันต่ำ สาเหตุจากลำไส้ใหญ่ โรคที่คุณควรใส่ใจ

Spread the love

โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) คืออะไร

โรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคไอบีเอส (IBS : Irritable Bowel Syndrome) คือ โรคลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายท้อง มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย หรืออั้นอุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น เป็นผลมาจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร ในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นโรคลำไส้แปรปรวน จะมีแนวโน้มในการเกิดโรคนี้ได้มากกว่า มักพบมากในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงช่วงประมาณอายุ 40 ปี โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง อาจไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้

อาการของลำไส้แปรปรวน

  • ผู้ที่ป่วยลำไส้แปรปรวนจะมีอาการไม่สบายท้อง
  • แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในท้องมาก
  • ปวดท้องมากหลังรับประทานอาหาร และอาการจะดีขึ้นหลังการขับถ่าย
  • ท้องผูก ท้องเสีย ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
  • อุจจาระแข็งหรือนิ่มกว่าปกติ อุจจาระไม่สุด
  • หมดแรง ปวดหลัง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรืออาจรู้สึกเจ็บที่อวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ในผู้ป่วยที่เป็นเพศหญิง

ความเครียด รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มที่รับประทานเข้าไปอาจเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้อาการแย่ลง

โรคลำไส้แปรปรวนแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มอาการท้องผูก (IBS-C)
  • กลุ่มอาการท้องเสีย (IBS-D)
  • กลุ่มอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย (IBS-M)

ควรไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการของลำไส้แปรปรวน ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจแย่ลงได้ หรือพบว่ามีอาการอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวมที่ท้อง รวมถึงอาการของโรคโลหิตจาง เช่น รู้สึกเหนื่อย หมดแรง หายใจถี่ หัวใจเต้นแรง ผิวซีด ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

การรักษาลำไส้แปรปรวน

ในการรักษาทำได้โดยบรรเทาอาการของโรคลำไส้แปรปรวน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงรักษาได้โดยจัดการกับปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค เช่น ความเครียด การรับประทานอาหาร การใช้ชีวิต หรือต้องใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย ในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกการดื่มน้ำมาก ๆ และเพิ่มปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยละลายน้ำ (Soluble Fibre) เช่น กล้วย แอปเปิ้ล แครอท เป็นต้น และในผู้ที่มีอาการท้องเสียควรลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยไม่ละลายน้ำ (Insoluble Fibre) เช่น ซีเรียล ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยาก เพื่อลดการเกิดแก๊สในท้อง และท้องอืด เช่น ถั่ว นมจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี ผักและผลไม้บางชนิด เป็นต้น รวมถึงอาหารแปรรูป อาจรับประทานข้าวโอ๊ตเพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้
  • รับประทานอาหารตรงเวลา ไม่ควรอดอาหาร และไม่ควรรีบรับประทาน
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานสารให้ความหวานซอร์บิทอล มักพบในหมากฝรั่ง เครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ทำสมาธิ โยคะ พิลาทิส ไทเก็ก เดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ เป็นต้น จะช่วยผ่อนคลายความเครียด กระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย และทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเองที่ดีขึ้น ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ถึงประเภทของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย และไม่ควรออกกำลังกายหักโหมจนเกินไป
  • การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่ทางผู้ผลิตกล่าวว่าช่วยเสริมสร้างระบบย่อยอาหารได้ โดยจะมีแบคทีเรียที่เป็นมิตรต่อร่างกาย ช่วยสร้างสมดุลให้กับแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางงานวิจัยยืนยันถึงประโยชน์ของโปรไบโอติกส์อย่างชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้แปรปรวน

คุณภาพชีวิตโดยรวมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลหรือเกิดขึ้นกับผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนมากที่สุด หรืออาจนำไปสู้ความรู้สึกท้อแท้หรือภาวะซึมเศร้า รวมถึงผู้ป่วยลำไส้แปรปรวนที่เป็นริดสีดวงทวาร จะทำให้ริดสีดวงทวารมีอาการที่รุนแรงขึ้นได้

การป้องกันลำไส้แปรปรวน

โรคลำไส้แปรปรวนเป็นโรคที่ยังไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรค แต่ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่ออาการและความรุนแรงของโรคลำไส้แปรปรวน คือความเครียด ในผู้ป่วยที่มีความเครียดมีแนวโน้มจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสียบ่อยครั้ง หรือทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ การจัดการกับความเครียดเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันหรือบรรเทาอาการได้ ปฏิบัติได้ด้วยการฝึกลมหายใจโดยใช้กระบังลม หายใจเข้าและออกลึก ๆ หรือการนั่งสมาธิ รวมถึงการทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายอย่างน้อยละวันละ 20 นาที เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ เล่นเกม หรือการแช่ตัวในน้ำอุ่น ๆ เป็นต้น

อ้างอิง


Spread the love
error: Content is protected !!