ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
เป็นสภาวะผิดปกติของความดันโลหิตที่สูงขึ้นกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่ คือมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องควบคุมดูแล เพราะความดันโลหิตสูงเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะแทรซ้อนต่างๆ เช่น การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่ภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือด เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม โรคอัมพาต โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้
ความหมายของความดันโลหิต
“ความดันโลหิต” เป็นแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต มีค่าตัวเลข 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตซีสโตลิก เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว
ดังนั้นการรายงานผลความดันโลหิตจึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
เมื่อไหร่? เรียกว่าความดันโลหิตสูง
การวัดความดันโลหิตสูง ค่าความดันที่วัดได้จะออกมา 2 ค่า คือ ค่าความดันตัวบนและค่าความดันตัวล่าง
ความดันโลหิตซีสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท) (ค่าความดันตัวบน)
- น้อยกว่า 120 ความดันโลหิตปกติ
- 120-139 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 140 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท) (ค่าความดันตัวล่าง)
- น้อยกว่า 80 ความดันโลหิตปกติ
- 80-89 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 90 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
คุณมีปัญหาความดันสูงหรือไม่ ?
เหล่านี้คือกลุ่มอาการที่พบบ่อยๆ ของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- ปวดศีรษะ
- มึนงงศีรษะ
- คลื่นไส้,อาเจียน
- เหนื่อยง่าย
- หน้ามืด
- เป็นลม
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตสูง
ภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมบางอย่างที่ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ พันธุกรรมและพฤติกรรม และน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือการเกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น
การวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง
- ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทําการวัด 30 นาที
- ก่อนทําการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย
- นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนักเพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้างวางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต
- วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
- ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุย หรือขยับตัว
ในการวัดค่าความดันโลหิตแต่ละครั้งควรใช้วิธีการจัดให้ถูกต้อง พร้อมจดบันทึกตัวเลขค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างรวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจในสมุดประจำตัวผู้ ป่วยความดันโลหิตสูง โดยวัดค่าความดันโลหิตอย่างน้อยวันละ 2 ช่วงเวลา ได้แก่
- ช่วงเช้า วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 – 2 นาที ภายใน 2 ชั่วโมงหลังตื่นนอน และก่อนรับประทานยาลดความดันโลหิต
- ช่วงก่อนเย็น วัดความดันโลหิตอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1- 2 นาที
การดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
อาหาร : หากรับประทานเนื้อสัตว์ ควรเป็นเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และควรรับประทานผักผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะผลไม้หลายชนิดมีรสหวาน หากเลือกรับประทานนมควรเป็นนมไขมันต่ำ
การออกกำลังกาย : ควรเลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิค(Aerobic exercise) หรือการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง ระดับการออกกำลังกายที่สามารถออกได้ คือเบาถึงปานกลาง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักหรือหักโหม
บุหรี่และสุรา : ควรงดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา เนื่องจากทั้งบุหรี่และสุราส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพและระดับความดันโลหิต
การใช้ยา : รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปรับยาเอง การรับประทานยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษา
ควบคุมน้ำหนัก : พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสม
แหล่งอ้างอิง
- https://www.nonthavej.co.th/HYPERTENSION.php
- https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hypertension
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ดูแลตัวเองอย่างไร-เมื่อ/