โรคภูมิแพ้ (Allergy) แบ่งได้ 4 ประเภท และการรักษาเมื่อรู้ตัวว่าเป็นภูมิแพ้

Spread the love

โรคภูมิแพ้ (Allergy)

เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไวต่อโปรตีน หรือสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติแล้ว สารเหล่านี้จะไม่มีผลอันตราย ต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะไวต่อ ฝุ่น, เชื้อราในอากาศ, ขนสัตว์, เกสรดอกไม้ หรือแม้แต่อาหารที่ทานเป็นประจำ โรคภูมิแพ้จัดอยู่ในโรคที่พบบ่อยมากที่สุด ในประเทศไทย เรียกได้ว่าประชากรเกือบครึ่งหนึ่ง ของประเทศจะมีปัญหาโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้มีสาเหตุมาจากอะไร

  1. กรรมพันธุ์ ถ้าในครอบครัว มีคนเป็นภูมิแพ้ 2 ใน 4 คนนั่นหมายถึงว่า อัตราเสี่ยงของรุ่นต่อไปก็จะมีเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าพ่อ หรือแม่เป็น ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปด้วย ในเด็กผู้ชายจะเป็นมากกว่าเด็กผู้หญิง
  2. สิ่งแวดล้อม สารก่อภูมิแพ้ มักจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนมักจะเป็นภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อมมากกว่า ไม่ว่าจะที่เข้าโดยการหายใจ หรือจากการรับประทาน หรือจากการสัมผัส สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเลเป็นสารก่อภูมิแพ้ที่มีคนแพ้มากที่สุด คนที่แพ้อาจมีผื่นลมพิษทันที ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น หรือการทำงานบ้าน ที่ต้องเจอกับฝุ่น การออกไปนอกนอกบ้านที่ต้องเจอกับควัน และมลพิษ การแฟ้ขนของแมว หรือสุนัข ล้วนแต่เป็นสาเหตุของการเกิดภูมิแพ้ได้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้อาจจะมีปัจจัยอื่นร่วม ที่ทำให้อาการกำเริบ หรือเป็นรุนแรงขึ้น เช่น อากาศที่หนาวเย็นจนเกินไป หรืออากาศเปลี่ยนกระทันหัน

โรคภูมิแพ้ สามารถแบ่งได้ตามอวัยวะ 4 โรค

ได้แก่การเกิดภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ทางผิวหนัง ภูมิแพ้ประเภทแพ้อาหาร รวมไปถึงการเกิดอาการผสมกันในหลายระบบของร่างกาย ที่ส่งอันตรายต่อชีวิต

1. ภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ หรือโรคแพ้อากาศ

ภูมิแพ้ชนิดนี้ จะเกี่ยวข้องกับจมูก เพราะจมูก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของ ระบบทางเดินหายใจ เพื่อใช้กรองฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอม และใช้ปรับอุณหภูมิของร่างกาย ก่อนที่จะผ่านลงไปสู่หลอดลม ซึ่งภายในจมูกจะมีโพรงจมูก และเมื่อเยื่อบุโพรงจมูกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ก็จะเกิดการอักเสบ ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดนี้ จะมีการตอบสนองทางกลิ่น หรืออากาศที่หายใจเข้าไปค่อนข้างสูง และไวกว่าคนปรกติ โดยเฉพาะกับ เกสรดอกไม้ ฝุ่น ไรฝุ่น ควันต่าง ๆ และขนสัตว์

อาการของโรคภูมิแพ้อากาศ

จะมีอาการคักจมูก น้ำมูกไหล ( น้ำมูกสีใส ) จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยไม่มีอาการไข้ร่วมด้วย บางครั้งอาจมีอาการคันตา และมักจะมีอาการเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ อาการของโรคจะเป็นหนัก และบ่อยขึ้นเมื่อเข้าสู่ ฤดูหนาว ช่วงเวลาที่มักจะทำให้เกิดโรคได้ง่ายคือ ช่วงเช้าและกลางคืน จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 3 ชม. แล้วอาการก็จะดีขึ้น ให้ระวังโรคแทรกซ้อน คือ โรคไซนัส และนอนกรน 

การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้อากาศ

สำหรับเด็กทารก ควรให้ทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพราะในนมแม่มีภูมคุ้มกันที่ดี และต้านทานต่อโรคภูมิแพ้ สำหรับผู้ใหญ่ ควรทานอาหาร ที่มีประโยชต่อร่างกาย ให้ครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ประมาณ 3 – 4 วัน/อาทิตย์ และควรดูแลห้องนอนไม่ให้สกปรก หมั่นซักและนำเครื่องนอนออกตากแดด เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น ไม่ควรใช้หมอนหรือที่นอนที่ทำจากนุ่น ไม่ใช้พรม และงดการสูบบุหรี่ในบ้าน  เลือกใช้ผ้าใยสังเคราะห์พิเศษเพื่อคลุมที่นอนและหมอน เพื่อป้องกันไรฝุ่น หรือเลือกใช้เครื่องกรองอากาศ สำหรับผู้ที่อยู่ห้องแอร์ หรือถ้าต้องการใช้ยา ก็ให้ใช้ยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้แบบรับประทาน ยาลดจมูกบวม แก้คัดจมูก สำหรับใครที่มีอาการหอบหืด ก็ให้ใช้ยาพ่นจมูกเป็นประจำ เพื่อป้องกัน

แนะนำ : ซักผ้าอย่างไรเพื่อกำจัดไรฝุ่น ให้สิ้นซาก ซักด้วยน้ำร้อน 60 องศา นาน 15-20 นาที เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น และตากแดดให้แห้ง

2. ภูมิแพ้ในระบบผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ

เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมมากที่สุด ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีผิวหนังที่ไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งสภาพอากาศร้อน เย็น แห้ง ชื้น เชื้อโรคและสารเคมีที่ระคายผิวหนัง ผื่นผิวหนังอักเสบ มักมีอาการมากขึ้น ในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นในอากาศต่ำ หรือแม้แต่ความเครียด วิตกกังวลมากเกินไป ก็สามารถไปกระตุ้นโรคใ ห้กำเริบได้ ผู้ที่ครอบครัวไม่เคยมีประวัติ การเป็นภูมิแพ้ ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน เพราะความผิดปกติซ่อนเร้น อยู่ในยีน ของครอบครัวผู้ที่เป็น 

อาการของโรคในระบบผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ

จะมีอาการคัน เกิดตุ่มนูน หรือผื่นแดง ถ้าผื่นนี้เป็นมานาน จนเข้าสู่ระยะเรื้อรัง จะพบเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ทำให้ผิวเป็นรอยแผลเป็น มักจะเป็นในบริเวณ หน้า คอ ข้อพับ ข้อศอก มือ และเท้า พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ หรือในบางราย ตุ่มหรือผื่นอาจมีหนองร่วมด้วย เพราะเกิดการติดเชื้อ

การดูแลรักษาภูมิแพ้ในระบบผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ

หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ไม่ปรับอุณหภูมิให้ต่ำจนเกินไป เมื่อต้องอยู่ในห้องแอร์ ไม่อาบน้ำที่มีอุณหภูมิเย็น หรือร้อนจัด และควรหลีกเลี่ยงมลภาวะ หรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมาก อาบน้ำตามปกติ ให้ใช้สบู่อ่อน ๆ เน้นฟอกบริเวณ ข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ และรักแร้ และเมื่ออาบเสร็จก็ให้ใช้ผ้าซับให้แห้งแทนการถู หรือเช็ดแรง ๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ เช้น นมวัว ขนมปัง และอาหารทะเล เป็นต้น

ในรายที่ต้องการรับประทานยา ให้รับประทานยาในกลุ่ม ฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้ เพื่อลดอาการ โดยให้รับประทาน วันละ 2-3 ครั้งติดต่อ เว้น 5-7 วัน หรือใช้ยาทากลุ่ม สเตรียรอยด์ มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง แต่ยาตัวนี้ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะโรคกลุ่มนี้ต้องใช้ยานาน อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้

3. ภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร

เกิดจากปฏิกิริยาที่ไวต่ออาหาร ทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกาย ทำงานผิดปกติ เมื่อรับอาหารบางชนิดที่แพ้เข้าไป ปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อย จะเป็นปฏิกิริยาการแพ้ ชนิดที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน และยังมีปฏิกิริยาของภูมิแพ้ อีกประเภทหนึ่ง คือปฏิกิริยาของการแพ้ ชนิดแฝง ในปฏิกิริยาภูมิแพ้แบบนี้ มักจะไม่เกิดอาการแพ้ แต่ปัญหาจะเกิด เมื่อต้องทานอาหารที่มีโปรตีนชนิดนั้น อยู่เรื่อยๆ เช่น อาหารกลุ่มนม ไข่ ถั่ว จนเกินขีดที่ภูมิคุ้มกันจะรับไหว ก็จะเกิดอาการขึ้นมาทันที แบบไม่ทั้นตั้งตัว และอาจจะรุนแรงกว่า ภูมิแพ้ชนิดแฝงนี้ ยังเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือบางกรณีพบร่วมกับความผิดปกติ ทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ภาวะสมาธิสั้น ซึ่งโดยรวมแล้วเกิดจาก ภาวะความไม่สมดุล ที่มีอยู่ในร่างกายนั่นเอง

อาการของโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร

อาการของผู้ที่แพ้ อาจจะเกิดขึ้นทันที หรืออาจจะนาน 2 ชม. หลังจากรับประทานอาหาร แม้ว่าจะรับอาหารที่แพ้ ในปริมาณเพียงเล็กน้อยอาการที่พบได้ คือ มีผิวหนังอักเสบ หรือเป็นลมพิษแบบเฉียบพลัน บวมบริเวณริมฝีปาก หน้า ลิ้น คอ และส่วนอื่นของร่างกาย คัดจมูก หายใจหอบ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าอาการทรุดหนัก ก็อาจจะช็อกหมดสติ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร

ควรหลีกเลี่ยง การรับประทานอาหารที่แพ้ หรือถ้าเกิดอาการ ให้รีบรับประทานยาแก้แพ้ Cetirizine โดยในผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหาร แบบแฝง ควรงดอาหารชนิดนั้น เป็นเวลา 3 – 6 เดือน เพื่อให้ร่างกาย ได้กำจัดออกไปได้หมดก่อน และควรไปพบแพทย์ รับการซักประวัติเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง อาจจะต้องมีการทดสอบ อาหารที่ทำให้แพ้ เพื่อดูว่าร่างกายมีการตอบสนองอย่างไร หรือถ้าในรายที่แพ้มาก ๆ ก็อาจจะได้รับยาฉีดชนิด Epinephrine และงดอาหารที่แพ้ไปเลย

4. ภูมิแพ้ที่เกิดจากหลายระบบร่วมกัน

เกิดในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หลายระบบ หรือหลายชนิด ( ตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป ) ในคนคนเดียว บางคนอาจเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ คัดจมูก จามบ่อย มีน้ำมูก ( ระบบทางเดินหายใจ ) แต่ก็มีอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของภูมิแพ้อาหารร่วมด้วย ( ระบบทางเดินอาหาร ) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีแนวโน้มของผู้ที่ภูมิแพ้ ในหลายระบบ เพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิตของคนเมือง ที่แย่ลงเรื่อย ๆ  ทำให้ตอนนี้คนหนึ่งคน สามารถเป็นภูมิแพ้ ได้แทบจะทุกระบบแล้ว

อาการของโรค

เป็นที่ตา: เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบ จะมีอาการเคืองตา แสบตา หรือคันที่หัวตา น้ำตาไหล และหนังตาบวม

เป็นที่จมูก: เรียกว่า เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ จะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล ( น้ำมูกมีสีใส ) จามบ่อย คันจมูก มีเสมหะไหลลงคอ และคันเพดานปากหรือคอ

เป็นที่ผิวหนัง: เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบ จะมีอาการคัน มีผดผื่นขึ้นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบาง ๆ ในเด็กเล็ก มักเป็นที่แก้ม, ก้น, หัวเข่า และข้อศอก ในผู้ใหญ่มักเป็นที่ข้อพับของแขน และขา นอกจากนั้นผิวหนัง อาจเกิดการอักเสบ จากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก เครื่องสำอางค์ จะเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า “ลมพิษ” ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล แพ้แมลงกัดต่อย และการแพ้ยา

เป็นที่ระบบทางเดินอาหาร: เรียกว่า โรคแพ้อาหาร จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด ท้อเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี

การดูแลรักษา

ดูแลตัวเอง โดยการหลีกเลี่ยงอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการแพ้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ รวมทั้งผัก และผลไม้ รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่เสมอ

กำจัดสิ่งที่เป็นพิษภายในบ้าน หมั่นทำความสะอาด และเปลี่ยนเครื่องนอนทุก ๆ สัปดาห์  ถ้าจำเป็นต้องทำความสะอาดเอง ควรใช้ผ้าปิดปากและจมูก หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น ขณะทำความสะอาดด้วย นอกจากนั้นควรล้าง แผ่นกรองฝุ่นของเครื่องปรับอากาศทุก ๆ 2 สัปดาห์

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้สดชื่น ไม่เครียด หรือวิตกกังวลมากจนเกินไป หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัด งดเลี้ยงสัตว์ที่มีขนทุกชนิด เพื่อป้องกันไม่เกิดสิ่งก่อภูมิแพ้ และอาจจะต้องงดการนำดอกไม้เข้าบ้าน เพราะละอองเกสรดอกไม้ เป็นสิ่งก่อภูมิแพ้ชั้นดี สัตว์ที่ผู้เป็นโรคนี้สามารถเลี้ยงได้ อย่างปลอดภัย คือ ปลา

ในผู้ที่ต้องการใช้ยา ในการรักษา ให้ใช้ยาในกลุ่มยาแก้แพ้ ยาพ่นจมูก ยาทาผิวหนัง ยาสูดหรือพ่น และยาหยอดตา เป็นการรักษาเบื้อต้น แต่ถ้าในรายที่เป็นหนัก ก็อาจจะต้องเปลี่ยนเป็นยาฉีด หรืออาจจะไปถึงขั้นต้องผ่าตัดเลยก็ได้

อย่างไรก็ดี การดูแลตัวเอง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของโรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเป็นแล้ว โอกาศหายค่อนข้างมีน้อย ต่อให้มียาดีมารักษา แต่ดูแลตัวเองไม่ดี ก็ไม่สามารถหายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นแล้ว ต้องรู้จักวิธีการดูแลตัวเอง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น และหลีกเลี่ยงต่อสถานที่ อาหาร และความเสี่ยงต่าง ๆ ให้มากที่สุด พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เป็นการทำร้ายตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมปรับสภาพให้กลับมาสู้ ต่อสิ่งกระตุ้นการแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


Spread the love
error: Content is protected !!